ในวงการธุรกิจสตาร์ทอัพ เป้าหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งของเหล่าสตาร์ทอัพก็คงหนีไม่พ้นการเป็น Unicorn (ยูนิคอร์น) ให้ได้ หลายคงเคยได้ยินคำว่า “อยากเป็น Unicorn” แต่ว่าการเป็น Unicorn ในวงการสตาร์ทอัพคืออะไร?
คำว่า Unicorn หมายถึง ธุรกิจ Startup ที่มีมูลค่าบริษัทฯ มากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในต่างประเทศเราจะเห็น Startup ชื่อดังใน Sillicon Valley ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่าง Uber, Airbnb หรือ Snapchat เป็นต้น
ปัจจุบันก็มีสตาร์ทอัพจากจีน อย่าง Xiaomi หรือ Didi Chuxing ผู้ให้บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นรายใหญ่ในจีน ที่ได้ผ่านจุดประสบความสำเร็จเป็น Unicorn กันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากคำว่า Unicorn ยังมีคำว่า Centaur (เซนทอร์) หมายถึงธุรกิจที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากไปกว่านั้นยังมีคำว่า Decacorn (เดเคคอร์น) คือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ Hectocorn (เฮกโตคอร์น) คือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในประเทศไทย ที่สร้างกระแสครึกโครมเป็นอย่างมาก เมื่อ Flash (แฟลช) ผู้ให้บริการ E-Commerce (อี-คอมเมิร์ซ) ครบวงจร ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นการระดมทุนในรอบซีรีส์ E มูลค่า 150 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ หรือราว 4,700 ล้านบาทไปหมาดๆ กลายเป็นสตาร์ตอัพไทยรายแรกที่มีมูลค่าบริษัทเกิน 1,000 ล้านเหรียญฯ หรือมากกว่า 30,000 ล้านบาท คว้าตำแหน่งสตาร์ตอัพยูนิคอร์นรายแรกของประเทศไทยไปครอง
Flash ก่อตั้งโดย คุณคมสันต์ ลี วัย 30 ปี ใช้เวลาเพียง 3 ปี จ่อประชิดหายใจรดต้นคอผู้ให้บริการรุ่นคุณปู่อย่างบริษัทไปรษณีย์ไทย และรุ่นคุณพี่อย่าง Kerry ด้วยกลยุทธ์ถล่มราคา คิดค่าส่งต่ำสุด 9 บาท (ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์) แถมให้บริการครบครัน 7 วันไม่มีหยุด นอกเหนือจากการสร้างสรรค์นวัตกรรมบริการใหม่ๆเพื่อซื้อใจลูกค้า เช่น นโยบายเข้ารับพัสดุฟรีถึงหน้าบ้านตั้งแต่ชิ้นแรก ตลอด 365 วัน ไม่บวกเพิ่ม ไม่มีขั้นต่ำ และไม่มีวันหยุด หรือการคิดราคาแบบใหม่
ไม่เพียงเท่านั้น Flash ยังเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนรายใหญ่ทั้งไทยและเทศ เล็งเห็นถึงศักยภาพอัดฉีดเงินเข้ามาร่วมลงทุน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ กลุ่ม ปตท. กรุงศรีกรุ๊ป กลุ่มกระทิงแดง ตลอดจนกลุ่มทุนใหญ่จากจีนและสิงคโปร์ จนแฟลชทะยานสู่การเป็นยูนิคอร์นไทยรายแรก
อย่างไรก็ตามก็มีบางธุรกิจที่มองว่า Unicorn ไม่ใช่เส้นชัยสำหรับพวกเขา นั่นคือ LINE MAN Wongnai ที่เกิดจากการผนึกกำลังกันของ Wongnai (วงใน) และ LINE MAN (ไลน์แมน) เมื่อปี 2020 แต่สามารถปูพรมให้บริการส่งอาหารครบทั้งประเทศไทย 77 จังหวัดโดยมีการเปิดเผยจาก คุณยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผ่านทาง POSITIONING เกี่ยวกับเรื่องการไม่จำเป็นต้องเป็น Unicorn ว่า “การเป็น Unicorn ไม่ได้สำคัญขนาดนั้นสำหรับคนในองค์กรและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งพาร์ตเนอร์คนขับ พาร์ตเนอร์ร้านอาหาร เพราะเขาคิดแค่ทำยังไงให้มีรายได้มากขึ้น ทำยังไงให้ผู้ใช้กลับมาใช้งานซ้ำ ดังนั้น Unicorn เป็นแค่ทางผ่าน โดยเราต้องการเป็นผู้เล่นสัญชาติไทยที่ยืนอยู่ในตลาด”
การที่ Startup สามารถอัพเกรดไปให้ถึงระดับ Unicorn ไม่ได้ประโยชน์แค่ตัวบริษัทเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงศักยภาพของการทำธุรกิจที่เน้นการเติบโตเร็ว ถ้า Startup ไทยทำได้ การมีบริษัทมูลค่ามหาศาลขนาดนี้ จะดึงดูดให้เหล่านักลงทุนต่างประเทศเข้ามา ทั้งยังช่วยต่อยอดให้ธุรกิจอื่น ๆ พัฒนาไปด้วย สร้างงาน สร้างรายได้เข้าประเทศได้มากมาย
หาก Startup ไทยปลดล็อคแนวคิดนี้ได้ อีกไม่นานเกินรอเราคงได้เห็น Unicorn เกิดขึ้นอีกมากมายในประเทศไทย แน่นอน